เทพแห่งความตาย อานูบิส เทพองค์แรกที่จะได้พบหลังความตายมาเยือน

Head of Anubis in the tomb of Amenophis II [KV35]. Valley of the Kings. Egypt
864

อียิปต์ ประเทศแห่งอารยธรรมโบราณ ทั้งผลิตกระดาษใช้ที่แรกของโลก ทั้งสถาปัตยกรรมต่าง ๆ และรวมไปถึงการทำมัมมี่อีกด้วย

แน่นอนว่า หากพูดถึงการทำมัมมี่แล้วล่ะก็ จะนึกถึงใครไปไม่ได้เลยนอกเสียจาก “อานูบิส” เจ้าแห่งมัมมี่ เทพผู้พิพากษา แยกแยะชั่วดีด้วยการชั่งน้ำหนักหัวใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทพเจ้าของอียิปต์ที่เราจะนำมาพูดถึงกันในวันนี้นั้นเอง

ตำนานของเทพอานูบิส

อานูบิส (Anubis) เป็นโอรสของ เทวีเนฟทิส (Nephthys) เทพีประจำบ้าน และ เทพเซต (Set) เทพเจ้าแห่งความแห้งแล้ง

พระองค์มีร่างกายเป็นมนุษย์ มีหัวเป็นหมาไนสีดำ โดยสาเหตุที่ต้องเป็นหมาไนนั้น สันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะมักพบเห็นหมาไนมากมายบริเวณสุสานในเวลากลางคืน

เทวีไอซิส (Isis) ภรรยาของเทพโอซิริส (Osiris) ทรงเลี้ยงดูพระองค์มาดั่งลูกในไส้ เมื่อเติบโตขึ้น เทพอานูบิสจึงเป็นผู้ที่คอยปกป้องพระนาง และเคารพนางเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิด พระองค์ยังเป็นผู้เสาะหาน้ำมันหอม และยาหายากต่าง ๆ ในการทำมัมมี่ศพของ เทพโอซิริส ร่วมกับ เทวีไอซิส และ เทวีเนฟทิส ผู้เป็นมารดา

นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้พระองค์ได้เป็นเทพแห่งความตายสำหรับฟาโรห์องค์แรกนั่นเอง

เทพผู้นำทางดวงวิญญาณ ไปสู่โถงแห่งการพิพากษา

ชาวอียิปต์โบราณนั้นเชื่อว่า เมื่อตายไปแล้ว เทพอานูบิสจะมารับดวงวิญญาณไปสู่ยมโลก โดยพานั่งเรือของเทพเจ้ารา (Ra) ซึ่งเป็นเทพแห่งพระอาทิตย์ ไปยังมหาวิหารพิพากษาของเทพโอซิริส ณ ตรงกลางห้องพิพากษาของดวงวิญญาณ จะมีตราคันชั่งขนาดใหญ่ตั้งอยู่

เทพฮอรัส (Horus) พระเจ้าแห่งท้องฟ้า กับเทพอนูบิส จะทำการกำกับการชั่ง โดยนำเอาหัวใจของผู้ตายชั่งไว้ข้างหนึ่งของตาชั่ง ส่วนอีกข้างจะเป็นขนนกของเทพีมะอาท (Maat) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรม

เกณฑ์คือ ถ้าหากหัวใจเบากว่าขนนก แสดงว่าในขณะที่คนผู้นั้นมีชีวิตอยู่ได้ทำสิ่งเป็นกุศล จึงได้รับพรให้มีชีวิตอันเป็นนิรันดร์

ส่วนคนที่หัวใจหนักมากกว่าขนนก จะถูกสัตว์อสูรอัมมุท (Ammut) กัดกินหัวใจ ทำให้ดวงวิญญาณนั้นดับสลายตลอดกาล

ความเคารพที่มีต่อท่านเทพอานูบิส

เพราะความเชื่อในโลกหลังความตายของชาวอียิปต์ ทำให้เทพอานูบิสได้รับความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก โดยที่มาของการนับถือเทพอานูบิสนี้ น่าจะมีที่มาจากเมือง Abydos (อาบิโดส) ในอียิปต์เหนือ แต่ศูนย์กลางของความเชื่อนี้อยู่ที่เมือง Cynopolis (ไซโนโปลิส) ในอียิปต์เหนือเช่นกัน และในไอยคุปต์ทะเลทรายแห่งตะวันตก ที่เรียกกันว่าบ้านแห่งความตาย

การปรากฏตัวของเทพอานูบิส

เทพอานูบิสจะปรากฏอยู่ในภาพวาดเล่าเรื่องชีวิตหลังความตาย ทั้งในสุสานของฟาโรห์ ที่หุบผากษัตริย์ (Valley of the King)  และในภาพวาดบนกระดาษปาปิรุส ชื่อ Hunefer, Book of the Dead ซึ่งพบหลักฐานในเมืองธีบส์ อียิปต์ วาดช่วง 1,290 ปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบันเป็นคอลเลกชันที่ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์บริทิช พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของอังกฤษ

คำสาปฟาโรห์ และคำเตือนของเทพอานูบิส

This detailed scene, from the Papyrus of Hunefer (c. 1275 BC), shows the scribe Hunefer's heart being weighed on the scale of Maat against the feather of truth by Anubis
This detailed scene, from the Papyrus of Hunefer (c. 1275 BC), shows the scribe Hunefer’s heart being weighed on the scale of Maat against the feather of truth by Anubis

ความเชื่อเรื่อง “คำสาปฟาโรห์ตุตันคามุน” เริ่มเป็นที่พูดถึงกันไปทั่วโลก หลังจากการค้นพบสุสานตุตันคามุน ฟาโรห์ในราชวงค์ที่ 18 ของอียิปต์โบราณ ในปี 1922 ที่หุบเขากษัตริย์นครลักซอร์ ประเทศอียิปต์

เมื่อ ลอร์ด คาร์นาร์วอน ได้ว่าจ้างคณะสำรวจของ นายโฮเวิร์ด คาร์เตอร์ เข้าไปทำการสำรวจค้นหาสุสานฟาโรห์ตุตันคามุน ในหุบผากษัตริย์ เมืองลักซอร์ ในการขุดค้นสุสานได้พบทรัพย์สมบัติมากมายที่ถูกซุกซ่อนมานานกว่า 3,000 ปี

ทำให้คณะสำรวจหลงระเริง จนละเลยรูปปั้นเทพอานูบิส สัญลักษณ์แห่งความตาย ที่ตั้งอยู่บนหีบพระศพของฟาโรห์ และคำสาปที่นักบวชไอยคุปต์สลักไว้ “มรณะจักโบยบินมาสังหารสู่ผู้บังอาจรังควานสันติสุขแห่งพระองค์ฟาโรห์” ข้อความที่เปี่ยมด้วยอาถรรพ์นี้ เชื่อว่าก่อให้เกิดการตายอย่างปริศนาของคณะสำรวจ

แม้ในความเป็นจริง มีคนที่อยู่ในเหตุการณ์เปิดโลงศพเพียง 6 คนจาก 26 คนที่เสียชีวิตไปในช่วง 10 ปีหลังจากนั้น และคาร์เตอร์ ผู้ที่ควรจะเป็นเหยื่อต้องคำสาปมากที่สุดก็ยังมีชีวิตถึงปี 1939 หรือเกือบ 20 หลังจากการเปิดโลงพระศพ

The Anubis Shrine; 1336–1327 from the Valley of the Kings; Egyptian Museum (Cairo)

The Anubis Shrine; 1336–1327 from the Valley of the Kings; Egyptian Museum (Cairo)

ในยุคปัจจุบัน มักพรรณนาเทพอานูบิสให้ดูหน้าหวาดกลัวคล้ายปีศาจ ซาตาน เน้นนำเสนอไปในทางก้าวร้าว หน้ายำเกรง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของเกม Fiction หรือ Animation

การปรับเปลี่ยนให้ต่างจากตำนานดั้งเดิม ที่เทพอนูบิสดูจะมีศีลธรรมมากกว่าของยุคปัจจุบันนั้น ไม่ได้ทำให้ความนิยมของเทพอนูบิสลดลงไปแต่อย่างใด กลับแสดงให้เห็นได้ว่า เทพอานูบิสได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย มานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แหล่งข้อมูล:

ความเชื่อที่ว่าตายแล้วไปไหน

5 ตำนานสร้างความเชื่ออียิปต์โบราณ – Blog | Eventpop

อะนูบิส – วิกิพีเดีย 

ไขปริศนาไอยคุปต์ กับ 7 เทพเจ้าอียิปต์โบราณ ที่จะทำให้ประวัติศาสตร์อียิปต์สนุกยิ่งขึ้น  
ตำนาน เทพอานูบิส (ANUBIS) เทพแห่งความตายของชาวอียิปต์

Comments are closed.