เรื่องราวของ “บาเตาะ” จากเกาะซาโม ตําบลโละจูด ชุมชนติดเขตแดนไทย-มาเลย์ ซีกล่างทะเลสาบโตบา ป่าฮาลา-บาลา ซึ่งถือเป็นป่าดิบชื้นที่ถูกขนานนามว่าเป็นป่าอะเมซอนแห่งเมืองไทย
คำบอกเล่าเกี่ยวกับ ชาวบาเตาะ ที่กล่าวถึงการชอบกินเนื้อคนในป่าฮาลา-บาลา เริ่มตั้งแต่เมื่อใดนั้น ไม่ทราบชัดเจน
คนกินเนื้อคน “บาเตาะ” หรือที่คนไทยเรียกว่า “เงาะหาง” นั้น มีจริงหรือเรื่องหลอกเด็กกันแน่?
คำว่า “บาเตาะ” มักถูกนำมาใช้ในการขู่พวกเด็กให้กลัวในเวลาที่ดื้อหรือไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ ว่า “ระวังบาเตาะจะมาจับไปกิน”
ก่อนจะมาหาคำตอบของคำถามนั้น เรามาทำความรู้จักกับรูปลักษณ์และนิสัยใจคอของพวกเขา ฟังเรื่องราวผ่านตำนาน ผ่านคำบอกเล่าต่าง ๆ เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงกันก่อนดีกว่า
บาเตาะเป็นอย่างไร?
จากคำบอกเล่า เผ่าบาเตาะ ชอบกินเนื้อ กินสัตว์ ไม่ชอบผลไม้ และมีลักษณะพิเศษคือมีหาง โดยคนไทยพุทธมักเรียกพวกบาเตาะว่า “เงาะหาง”
บาเตาะไม่มีศาสนา มีภาษาเป็นของตัวเอง ลักษณะผิวสีดําแดง ผมหยิกเหมือนซาไก การแต่งกายมีเพียงแค่สิ่งปิดบังที่อวัยวะเพศเท่านั้น ผู้หญิงเปลือยอก ใบหน้าคล้ายสัตว์ประเภทลิงกัง สูงประมาณ 170 เซนติเมตร เทียบเท่ามนุษย์ทั่วไป
อาศัยในโพรงดินที่ขุดขึ้น เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว ล่าสัตว์โดยใช้ลูกดอก ธนู หรือหอก สัตว์ที่ล่าได้จะนํามาย่างไฟกินกันในเผ่า
บ้างเชื่อว่า บาเตาะเป็นต้นสายพันธุ์ เป็นบรรพบุรุษของคนป่า ดังปัจจุบันเรียกเงาะที่อยู่แถบทิวเขาสันกาลาคีรี หรือทางเหนือของมาเลเซียว่า “เซมัง” (Semang) หรือ “นิกริโต” (Nigrito) หากคํายืนยันของชาวบ้านเป็นความจริง ก็เรียกได้ว่าบาเตาะคือคนป่าที่เก่าแก่ และรักษาลักษณะเผ่าพันธุ์ของตนเองมาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุด
การหายไปของพวกเขา
นายเปาะสู สะหะ อายุ 85 ปี อดีตเป็นนายพรานเชื้อสายมาเลย์ เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่โละจูด กล่าวว่า เมื่อเข้ามาอยู่ใหม่ ๆ ดาแฆ (ที่อยู่ของบาเตาะ) มีอยู่แล้ว แต่ไม่พบเห็นบาเตาะ
เขาได้ยินจากคนรุ่นหลัง เล่าว่า ในช่วงของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์บาเตาะ โดยการเผาทั้งเป็นในบ้านของพวกเขาเอง ตอนนั้นมีบาเตาะเผือกหนีออกไปได้คนหนึ่ง ชาวมลายูถิ่นเรียกเขาว่า “บาเตาะ ปูเต๊ะ” ซึ่งเป็นหัวหน้าเผ่าของบาเตาะ ที่เรียกปูเต๊ะ เนื่องจากมีผิวขาวกว่าคนอื่น ๆ (ปูเต๊ะ แปลว่า ขาว)
จากคําสัมภาษณ์ของ นายอัมซะ หะยีหะหมัด ผู้สืบเชื้อสายบาเตาะ พออนุมานได้ตรงตามเรื่องเล่าของชาวโละจูด ที่เล่าตรงกันว่า พวกบาเตาะที่เขารับรู้นั้น มีหาง ชอบกินคน อาศัยอยู่ในรู สุสานของบาเตาะเป็นกองดินสูงต่ำ ที่ปัจจุบันยังถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนในแนวป่าฮาลา-บาลา จึงอาจเป็นไปได้ว่าเคยมีบาเตาะกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่บริเวณแถบนี้จริง ๆ
บาเตาะมีหลายเผ่า!
จากการสัมภาษณ์ นายอัมซะ หะยีหะหมัด (Amzah H.G. Hamat) ผู้สืบเชื้อสายบาเตาะ เผ่าแมนดาลิง เชื้อสายอินโดนีเซีย อดีตเป็นครู ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ พํานักอยู่ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ สรุปความได้ว่า
บาเตาะ หรือ บาตัก มีหลายกลุ่ม กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ เผ่าโตบา (Toba) คาโร (Karo) ปัก ปัก (Pak Pak) สิมาลุงกุน (Simalungun) แมนดาลิง (Mandailing)
ในแต่ละกลุ่มจะมีหัวหน้าเผ่าของตน บาเตาะแต่เดิมจะมีความเชื่อเรื่องเทพ ภูตผีปีศาจ แม่มดพ่อมด หมอผี รวมถึงการกินเนื้อคนเป็นอาหาร
ยังมีอีกเผ่าหนึ่ง ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์จําชื่อไม่ได้ เผ่านี้เถื่อน และล้าหลังที่สุด ชอบอาศัยอยู่ในรู ในถ้ำ อยู่เป็นกลุ่มในป่าลึก ๆ พวกนี้บางคนมีผิวขาว การแต่งกายมีเพียงเอาใบไม้ปิดอวัยวะเพศเท่านั้น อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นพวกโตบา และบาเตาะที่ปรากฏเป็นเรื่องเล่าในป่าฮาลา-บาลา
การปรากฎตัวของ “บาเตาะ” ในตำนาน มะโย่ง หรือ เมาะโย่ง การแสดงพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายมลายูในแถบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และบางส่วนของ จังหวัดสงขลา
โดยได้มีการกล่าวถึงคนป่าที่เรียกว่า “บาเตาะ” ซึ่งเป็นภาษามลายู มีความหมายว่า คนป่า คนพื้นถิ่น ในความหมายของคนในชุมชน หมายถึง คนเถื่อน ใจดําอํามหิต บาเตาะยังมีความหมายเช่นเดียวกับบาตัก (Batak) ซึ่งหมายถึง เผ่าพันธุ์หนึ่งบนคาบสมุทรมลายู รวมถึงอินโดนีเซีย อีกด้วย
บาเตาะในตำนานมะโย่ง
“รายาบือราสะ (ราชารายาบือ) ครองเมืองบรือดะ ทรงมีพระราชธิดาและพระโอรส โดยโอรสสามารถแปลงกายเป็นสุนัขดำได้
อยู่มาวันหนึ่ง พระธิดาและสุนัขดำเสด็จประพาสป่า ไปพบบาเตาะ (คนป่า) ซึ่งสามารถร้องเพลงได้ไพเราะจับใจ พระธิดาจึงขอเรียนร้องเพลงด้วย เมื่อเรียนครบเจ็ดวัน จึงเสด็จกลับวัง
อยู่มาไม่นาน พระธิดาทรงครรภ์กับพระเชษฐา (พี่ชาย) เป็นสาเหตุให้ทั้งสองถูกขับออกจากเมือง ต่อมารายาบือราสะรับสั่งให้ทหารไปฆ่าสุนัขดำ และรับเอาพระธิดาพร้อมทั้งพระนัดดา (หลาน) กลับเมือง
วันหนึ่งพระกุมารล้มเจ็บลง รายาสั่งให้โหรทำนายและรักษาพระนัดดา โหรให้นำกะโหลกสุนัขดำมาทำเป็นตัวซอ และเส้นพระเกศาของพระราชธิดาเป็นสายคันซอ เอ็นสุนัขดำเป็นสายซอ เมื่อประกอบเสร็จ โหรจึงให้พระกุมารสีซอ ซอมีเสียงดังว่า “พ่อตายแต่แม่ยังอยู่” พระกุมารได้ยินดังนั้นก็หายเจ็บไข้
จากนั้นพระกุมารได้ลาพระมารดาไปเรียนสีซอและการร้องรำกับบาเตาะปูเตะ เสียงซอที่บาเตาะสอนนั้น มีเสียงว่า “เปาะโย่ง” พระนัดดาจึงมีนามว่า เปาะโย่ง มาแต่บัดนั้น
เมื่อเปาะโย่งกลับถึงเมืองบรือดะแล้ว ได้แสดงความสามารถถวายรายา เปาะโย่งให้คนไปตัดไม้ทำซือแระ (แกระ) ทำกือแน (กลอง) จากไม้ปูตะ (ไม้จิก) ส่วนแกระทำจากไม้ไผ่ พร้อมกับผู้สีซออีกคน
เสร็จแล้วเปาะโย่งร่ายรำและร้องเพลง เป็นที่สบอารมณ์ผู้ชมอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้การแสดงประเภทนี้แพร่หลายในเวลาต่อมา”
จากเนื้อหาในตำนานมะโย่ง จะเห็นว่า บาเตาะในตำนานมะโย่งเป็นเพียงคนป่าใจดี ที่ร้องเพลงเก่งเท่านั้น แตกต่างจากคำบอกเล่าในตำนานจากเกาะซาโม อย่างชัดเจน
บาเตาะกินเนื้อคนจริงหรือ?
จากการบอกเล่าต่อ ๆ กันมา ชาวบาเตาะมักจะจับชาวบ้านที่ล่องเรือผ่าน โดยใช้วิธีขึงหวายยาวตามร่องน้ำ และกระตุกหวายขณะที่เรือของชาวบ้านแล่นผ่าน ทำให้เรือของชาวบ้านคว่ำ แล้วก็จับชาวบ้านมากินเป็นอาหาร
แต่อย่างไรแล้ว ชาวบาเตาะจะไม่กินญาติของตนเอง ดังนั้น หากครอบครัวไหนมีคนชรา อายุ 90 ปีขึ้นไป จะถูกทดสอบให้ปีนต้นไม้ หากขึ้นไม่ได้ ส่งสัญญาณว่าไม่ไหวแล้วนั้น ถือว่าไร้ประสิทธิภาพ ก็จะให้อีกครอบครัวหนึ่งฆ่า และถูกนำเนื้อมากินเป็นอาหารในมื้อนั้น
บ้างก็ว่า บาเตาะจะกินเนื้อคนเมื่อยามที่ขาดแคลนอาหารเท่านั้น ทั้งนี้ ยังไงแล้วก็ต้องใช้วิจารณญาณในการรับฟัง เพราะเนื่องจากข้อสันนิษฐานและคำบอกเล่าต่าง ๆ ยังไม่ค่อยชัดเจน

ความเชื่อของชุมชน
นอกจากคำบอกเล่าผ่านตำนานอย่างตำนานมะโย่งแล้ว คำบอกเล่าปากต่อปากผ่านการสัมภาษณ์ หรือหลักฐานด้านสถานที่อย่างสุสานแล้ว ยังมีหลักฐานด้านความเชื่ออีกด้วย ตัวอย่างคือ ทุกครั้งที่จะกระทําการใด ๆ เช่น สวดมนต์ ออกล่าสัตว์ จะต้องขอขมา ระลึกถึงบุญคุณบาเตาะปูเต๊ะ เสมอ เปรียบเสมือนเจ้าที่เจ้าทาง
แต่สังเกตว่า ชาวพุทธที่อยู่ใกล้สุสานเท่านั้นจะยกย่องบาเตาะปูเต๊ะ ส่วนชาวพุทธและชาวมุสลิมที่อาศัยนอกเขตออกไปจะมองบาเตาะเป็นเพียงความหมายของความดุร้าย จึงมักใช้คำว่าบาเตาะเป็นคำด่า แสดงถึงการกล่าวหาที่ต่ำทรามชั่วช้ายิ่งกว่าสัตว์ เป็นไอ้คนอํามหิต นั่นเอง
สรุป
แม้ว่าจนปัจจุบัน สุสานบาเตาะจะยังไม่มีการศึกษาขุดค้นเพื่อหาความจริง แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านเชื่อว่าหากมีการขุดค้น แล้วเจอหลักฐานการมีอยู่จริงของชาวบาเตาะ การค้นพบนี้จะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง ต่อการสืบค้นที่มาของตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาช้านาน และที่สำคัญยังอาจจะช่วยสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้กับท้องถิ่นและผู้คนบริเวณนั้นได้อีกด้วย
แหล่งข้อมูลของคนบาเตาะ
1. https://www.silpa-mag.com/history/article_27247
2. https://www.ghoststoryth.com/story660/
แหล่งข้อมูลแปลคำราชาศัพท์
1. https://www.facebook.com/GMM25Thailand/photos/a.132462903482130/1237884956273247/?type=3&locale=th_TH
2. https://www.xn--b3c0aus0a8ceb2v.com
แหล่งข้อมูลการแสดงมะโย่ง
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%87
https://folktales.sac.or.th/folktale-details.php?id=222
Comments are closed.